วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2559

เจาะ! แอปเปิล วอตช์ ภารกิจรักสุขภาพ อะจริงซิ!

"แกะกล่อง IT" พาไปทำความรู้จักกับคุณสมบัติของ "Apple Watch" ที่เน้นตอบโจทย์สุขภาพและการออกกำลังกาย หลังจากอัพเดตซอฟต์แวร์เวอร์ชั่น 2.0…

จากวัตถุประสงค์ที่ต้องการส่ง "แอปเปิล วอตช์" มาตอบโจทย์การใช้งานระหว่างวัน ภายใต้ความสามารถในการอำนวยความสะดวกและใช้งานได้ใกล้เคียงกับการใช้สมาร์ทโฟน เพียงแต่ย่อส่วนลงมาอยู่บนข้อมือจนกลายเป็นนาฬิกาอัจฉริยะ โดยแอปเปิลได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แบ่งเป็น 3 รุ่น คือ วอตช์ สปอร์ต (Watch Sport), วอตช์ (Watch), วอตช์ อิดิชั่น (Watch Edition)

และแม้ว่าขณะนี้ เราจะเห็นผู้คนนิยมใส่นาฬิกาอัจฉริยะแพร่หลายขึ้น แต่ประโยชน์ส่วนใหญ่ก็เพื่อใช้คู่กับการออกกำลังกาย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากประโยช์ของแอปเปิล วอตช์ และคู่แข่งอีกราย...ที่มุ่งเน้นการใช้งานทั้งด้านสื่อสารและเข้าถึงความบันเทิง แต่ล่าสุด ดูเหมือนแอปเปิลก็ไม่ได้ปฏิเสธเทรนด์การดูแลสุขภาพและการออกกำลังกาย เพราะซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นล่าสุดอย่าง Watch OS 2.0 ที่เพิ่งปล่อยให้ผู้ใช้งานอัพเดตเมื่อไม่นานมานี้ ได้พัฒนาเพื่อรองรับการใช้งานร่วมกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น
ภาพแรก เมื่อคุณแกะกล่องแอปเปิล วอตช์...


คอลัมน์ "แกะกล่อง IT by PRISM" รับอาสา พาคุณไปทำความรู้จักกับคุณสมบัติของแอปเปิล วอตช์ ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานด้านสุขภาพ ว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

สำหรับการใช้งานเพื่อรองรับเรื่องการดูแลสุขภาพนั้น ซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นนี้ได้เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายอื่นสามารถพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้บริการร่วมกับแอปเปิล วอตช์ ได้หลากหลายขึ้น จากเดิมที่ยังไม่เน้นด้านนี้มากนัก ทำให้เครื่องที่ได้อัพเดตซอฟต์แวร์ใหม่สามารถตอบโจทย์การใช้งานได้หลากหลาย ภายใต้การใช้งานด้วยกลไกหน้าปัด การแจ้งเตือน รวมถึงเซ็นเซอร์ และรูปแบบการใช้งานที่รองรับบนแอปเปิล วอตช์ และบนไอโฟน ไอแพด ร่วมด้วย

โดยรูปแบบการสนับสนุนด้านสุขภาพของแอปเปิล วอตช์นั้น สามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก คือ... 1.สมาร์ท แทร็คเกอร์ (Smart Tracker) ซึ่งใช้ประโยชน์ในการแจ้งเตือนให้ทำกิจกรรมต่างๆ ระหว่างวัน เช่น เตือนให้ยืนในทุกชั่วโมง เพื่อทำให้ผู้ใช้งานได้เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นต้น 2.สร้างสมาธิได้มากขึ้น เช่น แอพช่วยฝึกลมหายใจ และ 3.ช่วยสนับสนุนการออกกำลังกาย ซึ่งสามารถรองรับแอพของผู้ให้บริการหลายรายที่มีแอพพลิเคชั่นด้านการออกกำลังกาย เช่น แอพสำหรับนักวิ่ง แอพสนับสนุนการปั่นจักรยาน เป็นต้น
นาฬิกาอัจฉริยะ ที่ให้ทั้งฟังก์ชั่นและแฟชั่น

หากคุณพร้อมจะทำความรู้จักแอพพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อการสนับสนุนด้านสุขภาพบนแอปเปิล วอตช์ ในซอฟต์แวร์ 2.0 แล้ว ขอเชิญทำความรู้จักไปพร้อมๆ กัน...!

Waterminder : ดื่มน้ำอย่างเหมาะสม
แอพพลิเคชั่นนี้จะช่วยให้คุณสามารถดื่มน้ำได้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย เพราะสามารถเช็กได้ว่าผู้ใช้งานนั้นดื่มน้ำไปเท่าไหร่ในแต่ละวัน เหมาะสมหรือเพียงพอหรือยัง ทั้งยังสามารถเรียกดูประวัติการใช้งานได้สูงสุด 2 สัปดาห์ พร้อมตั้งให้แอพแจ้งเตือนให้ดื่มน้ำทุกชั่วโมงก็ได้

Streaks : สร้างสุขนิสัยที่ดีในการดูแลตัวเอง
เหมาะสำหรับผู้รักสุขอนามัยอย่างมาก เพราะแอพนี้สามารถแจ้งเตือนทุกๆ ชั่วโมง หรือแจ้งเตือนแบบนานๆ ครั้ง เพื่อให้คุณได้ดูแลสุขอนามัยของร่างกาย โดยสามารถเลือกพฤติกรรมที่ต้องการให้แจ้งเตือนได้เอง เช่น เตือนให้ใช้ไหมขัดฟันเพื่อรักษาความสะอาดของฟัน และยังสามารถเพิ่มพฤติกรรมอื่นๆ ได้จากการตั้งค่าแอพพลิเคชั่นบนไอโฟน

3 Minute Mindfulness : ฝึกลมหายใจได้ทุกที่ทุกเวลา
เรื่องของสมาธิถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มนุษย์ควรฝึกฝน และแอปเปิล วอตช์ ก็ต้องการสนับสนุนให้ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่านกลไกหน้าปัดของแอปเปิล วอตช์ เช่น มีการสั่นเบาๆ 1 ครั้ง เพื่อแจ้งเตือนให้หายใจเข้า หรือสั่น 2 ครั้ง เพื่อแจ้งเตือนให้หายใจออก เป็นต้น โดยผู้ใช้งานสามารถปรับการตั้งค่าได้ตามที่ต้องการ ด้วยแนวคิดที่ว่าการกำหนดลมหายใจเพียง 3 นาทีต่อวัน ก็สามารถช่วยฝึกสมาธิได้ดียิ่งขึ้นแล้ว
เริ่มต้นการใช้งาน

วัดระดับการเต้นหัวใจ...คุณสมบัติที่หลายๆ คนต้องการจากอุปกรณ์สนับสนุนการออกกำลังกาย

Pocket Yoga : เพื่อคนรักโยคะ
นอกจากแอพนี้จะช่วยให้คุณสามารถฝึกโยคะได้แม้จะไม่ได้เสียเงินเข้าชั้นเรียนโยคะแล้ว ด้วยรูปแบบการใช้งานที่ถูกพัฒนาให้รองรับการแสดงผลและใช้งานได้ 2 หน้าจอ ทั้งบนแอปเปิล วอตช์ และไอโฟน ก็ยิ่งทำให้ผู้ใช้งานมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น เพราะสามารถเลือกควบคุมการใช้งานได้จากทั้ง 2 หน้าจอตามสะดวก ขณะเดียวกัน แอพดังกล่าวก็มีคำแนะนำพร้อมแจ้งเตือนว่าท่วงท่าต่อไปคืออะไร และต้องทำอย่างไร เป็นต้น

7 Minute Workout : เสมือนมีโค้ชติดตามตัว
เป็นอีกหนึ่งโปรแกรมเพื่อการออกกำลังกายที่น่าสนใจ เพราะแอพนี้ทำให้คุณสามารถเลือกจัดการกับรูปแบบการออกกำลังกายที่คุณต้องการได้ เช่น ต้องการออกกำลังกายแบบหนัก-เบา ต้องการโค้ชที่ให้คำแนะนำอย่างนุ่มนวลหรือดุดัน ภายใต้รูปแบบการออกกำลังกายใน 7 นาที

ยกตัวอย่างให้คุณเห็นภาพการใช้งานด้านสุขภาพบนแอปเปิล วอตช์ กันพอสังเขป แต่ไม่ได้หมายความว่ามีแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการออกกำลังกาย หรือด้านสุขภาพเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากอัพเดตซอฟต์แวร์เป็นเวอร์ชั่น 2.0 แล้ว แอปเปิล วอตช์ สามารถรองรับการใช้งานคู่กับแอพพลิเคชั่นจากผู้ให้บริการนับ 10 แอพ ซึ่งคาดว่าแอปเปิลจะขยายแนวโน้มการใช้งานดังกล่าวให้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ที่พร้อมให้บริการในขณะนี้ คือ Runtastic, Runkeeper, Lark, Lifesum, MyFitnessPal, Headspace, Gymaholic
หลากหลายแอพพลิเคชั่นที่แอปเปิล วอตช์ พยายามเพิ่มเติม เกี่ยวกับด้านสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนแอปเปิล วอตช์...ไม่ใช่เพียงการแจ้งเตือนหรือบันทึกข้อมูลการใช้งานในแต่ละวัน แต่แทบทุกแอพจะรวบรวมข้อมูลและเก็บรายละเอียดเอาไว้เป็นรายสัปดาห์อีกด้วย ตอบโจทย์ผู้ที่ต้องการดูสถิติหรือพัฒนาการในการออกกำลังกายของตนเอง หรือจะเลือกแชร์ข้อมูลต่างๆ ผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก รวมถึงการแช่งชันกับเพื่อนที่ใช้แอปเปิล วอตช์ ซึ่งหลายๆ แอพเปิดโอกาสให้เชิญชวนเพื่อนมาร่วมแข่งขันดูแลตนเองหรือออกกำลังกายได้ ควบคู่กับคุณสมบัติสนับสนุนการใช้งานการสื่อสาร รวมถึงข้อมูลและความบันเทิงจากแอปเปิล วอตช์ ส่วนข้อด้อยที่หลายคนบอกว่ายังเป็นข้อจำกัดของแอปเปิล วอตช์นั้น อาจยังเป็นเรื่องของราคาที่แพงกว่าอุปกรณ์สำหรับสนับสนุนการออกกำลังกายโดยตรง หรือแม้แต่เรื่องของการใช้งานที่วอตช์เป็นทั้งเครื่องมือและแฟชั่นบนข้อมือ จึงไม่อาจจะใช้งานแบบสมบุกสมบันตอบโจทย์ผู้ที่ออกกำลังกายแบบหนักๆ ได้มากนัก

และไม่ว่าอย่างไร...การเลือกใช้งานอุปกรณ์ให้เหมาะกับความต้องการและการใช้งานจริง ถือเป็นเรื่องสำคัญกว่าที่คุณจะมองข้ามไปได้!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น